การเลือกใช้ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ
ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ เป็นระบบที่ช่วยป้องกันเพลิงไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้บุคลากรในการเข้าไปผจญเพลิงซึ่งกำลังลุกไหม้ และใช้สำหรับห้องที่ไม่เหมาะกับการใช้น้ำจากระบบสปริงเกอร์ดับเพลิงอัตโนมัติ เนื่องจากน้ำ ที่ฉีดออกจากระบบสปริงเกอร์ดับเพลิงอาจทำความเสียหายแก่อุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ต้องเลือกใช้ระบบดับเพลิงด้วยก๊าซ (Gas Extinguishing Systems) หรืออาจเรียกว่าระบบดับเพลิงด้วยสารสะอาด (Clean Agent Fire Suppression Systems) เช่น ห้องเก็บข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ (Data Center Room) ห้องพิพิธภัณฑ์ (Museums) ห้องเครื่องไฟฟ้า (Generator Room) เป็นต้น
เราจะเห็นหลายเหตุการณ์เกี่ยวกับการเกิดเพลิงไหม้ ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต ทำให้เจ้าของอาคารและผู้ออกแบบระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ เกิดคำถามว่า จะมีวิธีเลือกใช้สารดับเพลิงประเภทใดที่จะมีประสิทธิภาพในการดับเพลิงได้ดีและมีความปลอดภัยที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ผลิตสารดับเพลิงออกมามากมายหลายชนิด เช่น FM200, NOVEC-1230, FE-13, FE-227, FE-25, NAFS-III, AEROSAL etc. ซึ่งผลิตขึ้นมาโดยบริษัทผู้ผลิตสารเคมีชั้นนำของโลก รวมทั้ง ยังมีก๊าซดับเพลิงจากธรรมชาติ เช่น ไนโตรเจน (IG-100) คาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) อาร์กอน (IG-01) เป็นต้น
แล้วสารดับเพลิงชนิดไหน จะดีและเหมาะสมที่สุด คำตอบคือ ไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยในการเลือกใช้สารดับเพลิงหลายอย่าง ให้เกิดความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนไม่สิ้นเปลืองงบประมาณมากจนเกินความจำเป็นต่อเจ้าของอาคาร ในบทความนี้ Harn จะแนะนำองค์ประกอบของการเลือกใช้ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ ว่าควรพิจารณาจากเรื่องใดบ้าง
หลักการเลือกใช้ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ
อันดับแรก เราควรพิจารณาสถานที่ในการป้องกันเพลิงไหม้ที่จะติดตั้งระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ ถ้าไม่มีผู้ที่ต้องอาศัยอยู่หรือทำงานประจำภายในห้องดังกล่าว (Unoccupied Area) เราก็จะสามารถเลือกใช้ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติประเภทใดก็ได้แต่หากสถานที่ดังกล่าวต้องมีผู้อาศัยหรือมีผู้เข้าทำงานภายในเป็นประจำ ก็ไม่ควรเลือกสารดับเพลิงชนิดที่ถูกห้ามไว้ เนื่องจากสารดับเพลิงบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตราย (Toxic) หรือบางชนิดมีควันปกคลุมทึบเมื่อสารดับเพลิงถูกฉีดออก จนมองไม่เห็นทางออก
นอกจากนี้ หากการออกแบบคำนวณปริมาตรก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติมีสูงกว่าค่า NOAEL และหรือ LOAEL ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย ก็ต้องระมัดระวังในการเลือกใช้สารดับเพลิงในสถานที่ที่ต้องมีผู้อาศัยหรือเข้าทำงานภายในประจำ ดูรายละเอียดจากตารางด้านล่างประกอบ
Design Concentration * | NOAEL | LOAEL | |
Novec1230 | 4,7% – 5,9% | 10% | 10% |
FM-200 | 7.0% – 9.0% | 9% | 10.5% |
IG-100 | 37.0% – 41.7% | 43% | 52% |
IG-55 | 37.0% – 41.6% | 43% | 52% |
CO2 | 34% – 75% | 5% | n.a. |
NOAEL – No observable adverse effect level
LOAEL – Lowest observed adverse effect level
*ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของผู้ผลิตแต่ละราย
ข้อมูลจากตารางจะเห็นได้ว่า หากเลือกใช้ก๊าซ Co2 ในสถานที่มีผู้อาศัยหรือเข้าทำงานประจำ จะมีความเสี่ยงภัยและอันตรายสูงมาก เนื่องจากต้องออกแบบโดยใช้ปริมาณก๊าซมากกว่าค่า NOAEL หลายเท่า
อันดับสอง พื้นที่ในการติดตั้งระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ เนื่องจากหากเป็นก๊าซดับเพลิงแบบธรรมชาติ ต้องอาศัยพื้นที่ในการติดตั้งมากกว่าหลายเท่า เปรียบเทียบกับก๊าซดับเพลิงที่ผลิตขึ้นมา เช่น FM200, Novec-1230 ทำให้เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเลือกใช้ก๊าซดับเพลิง เนื่องจากพื้นที่ติดตั้งบางแห่งมีจำกัดและมีมูลค่าสูง การเลือกใช้ก๊าซดับเพลิงธรรมชาติอาจไม่ตอบโจทย์ หรือพื้นที่เฉพาะบางแห่ง เช่น ภายในตู้ควบคุมไฟฟ้า อาจเลือกใช้ก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติที่ทำงานได้ด้วยตัวเองเมื่อเกิดเพลิงไหม้ภายในตู้ควบคุม เช่น สาร AEROSAL ก็จะมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่า
อันดับสาม การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่างที่ทราบกันดีว่า ก๊าซดับเพลิงที่ผลิตขึ้นมา บางชนิดทำลายสิ่งแวดล้อมจนหลายประเทศทั่วโลกได้ลงนามข้อตกลงที่เรียกกันว่า Montreal Protocol เมื่อวันที่ 16 กันยายน คศ.1987 ให้ทยอยยกเลิกการใช้งานสารดับเพลิง HALON 1301 เนื่องจากตัวสารทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ และทำให้โลกร้อน ซึ่งก๊าซดับเพลิงที่ผลิตขึ้นมาส่วนใหญ่ก็ยังมีปํญหาเหล่านี้อยู่บ้าง ถึงแม้ปัจจุบันก๊าซที่ผลิตขึ้นมาใหม่หลายชนิดก็ไม่ทำลายโอโซนแล้วก็ตาม แต่มียังมีส่วนทำให้โลกร้อนไม่มากก็น้อย หากเจ้าของอาคารคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทิศทางการเลือกใช้ก๊าซดับเพลิงแบบธรรมชาติ เช่น ไนโตรเจน (IG-100) ก็มีความเหมาะสมกว่า
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอีกหลายประการในการเลือกใช้ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติชนิดต่างๆ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติ เช่น ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ มีราคาถูก หากมีการถูกใช้งาน หรือมีการฉีดออก ค่าเติมก๊าซดับเพลิงก็มีราคาที่ถูกกว่าสารดับเพลิงที่ผลิตขึ้นมาหลายสิบเท่า
อย่างไรก็ตาม ระบบดับเพลิงทุกประเภทที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ได้มีการป้องกันอันตรายและความเสี่ยงภัยของผู้ที่ต้องอาศัยหรือทำงานอยู่ภายในสถานที่ติดตั้งระบบดับเพลิง โดยจะมีการติดตั้งสัญญาณเตือนภัยและมีระบบหน่วงเวลา เพื่อให้อพยพออกจากสถานที่ดังกล่าวก่อนก๊าซดับเพลิงจะทำงานอยู่แล้ว และหากพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ ที่ได้เรียนไว้ข้างต้นเพิ่มเติม ก็จะทำให้เกิดความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความเหมาะสม ได้ผลคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินอันมีค่าของท่านอีกด้วย
หลักการทำงานของระบบ
ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ (Gas Fire Extinguishing Systems) เป็นระบบดับเพลิงแบบท่วมห้อง (Total Flood System) ทำงานอัตโนมัติโดยการตรวจจับความร้อนหรือควัน และส่งสัญญาณไปที่ตู้ควบคุม และสั่งฉีดก๊าซดับเพลิง ด้วยหัวฉีดที่ติดตั้งไว้ ด้วยหลักการของการดับไฟโดยลดความร้อนหรือลดออกซิเจน หรือขัดขวางปฏิกริยาลูกโซ่ของการเกิดไฟ เพื่อตัดองค์ประกอบของการเกิดเพลิงไหม้ ทำให้เพลิงที่ลุกไหม้ ดับลงอย่างรวดเร็ว และไม่ทำอันตรายต่ออุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในภายในห้องอีกด้วย
อุปกรณ์ประกอบของระบบ
ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ (Gas Fire Extinguishing Systems) ประกอบด้วยอุปกรณ์หลักดังนี้
ตู้ควบคุม (Control Panel )
อุปกรณ์ตรวจรับสัญญาณ (Sensor Equipment)
ถังก๊าซดับเพลิง (Gas Cylinder Supply)
หัวฉีดพร้อมท่อระบบ (Nozzle and Piping)
อุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือ ความร้อน (Smoke or Heat Detector)
สถานที่เหมาะกับการใช้งานระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ
-
- ห้องเก็บข้อมูลระบบ (Data Centers)
- ห้องเครื่องไฟฟ้า (Generator Room)
- พิพิธภัณฑ์และห้องสมุด (Museums, Libraries)
- ห้องเครื่องจักร Machinery Spaces (Power, Automotive, Industrial)
มาตรฐานการรับรองและการทดสอบ
- ระบบระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล เช่น UL listed, FM approvedหรือ Vds approved.
- ผ่านการทดสอบการดับเพลิงตามมาตรฐาน NFPA 2001
- ผ่านการรับรองจาก EPA ให้สามารถใช้เป็นสารทดแทนระบบดับเพลิงฮาลอน 1301ได้ Significant New Alternatives Policy (SNAP)
สรุป
ระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ เป็นระบบที่ช่วยป้องกันเพลิงไหม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องใช้บุคลากรในการเข้าไปผจญเพลิงซึ่งกำลังลุกไหม้ และใช้สำหรับห้องที่ไม่เหมาะกับการใช้น้ำจากระบบสปริงเกอร์ดับเพลิงอัตโนมัติ เนื่องจากน้ำ ที่ฉีดออกจากระบบสปริงเกอร์ดับเพลิงอาจทำความเสียหายแก่อุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ต้องเลือกใช้ก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ (Gas Extinguishing Systems) หรืออาจเรียกว่าระบบดับเพลิงด้วยสารสะอาด (Clean Agent Fire Suppression Systems) เช่น ห้องเก็บข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ (Data Center Room) ห้องพิพิธภัณฑ์ (Museums) ห้องเครื่องไฟฟ้า (Generator Room) เป็นต้น
สำหรับท่านใดที่ยังมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบก๊าซดับเพลิงอัตโนมัติ หรือต้องการวางแผนติดตั้งระบบดับเพลิงในอาคารของคุณ ติดต่อเราได้ที่นี่ เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านระบบดับเพลิงที่คอยให้คำปรึกษากับคุณ
ข้อมูลจาก – National Fire Protection Association (NFPA)
– United State Environmental Protection Agency (EPA)
– SIEMENS Natural agent extinguishing systems
– HYGOOD, UK.
ติดตาม Harn Engineering Solutions
เรามีบทความดีๆ และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์