ดร. เจน ชาญณรงค์ (กรรมการบริษัท) ในฐานะประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับ PM2.5 ได้เริ่มศึกษาแนวทางในการลดไฟป่าโดยแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน เรียกว่า “บ้านก้อแซน์บ๊อกซ์” และในฐานะประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล โดยนำภาคประชาชนเข้าช่วยชาวบ้านและราชการในการแก้ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ และลดปัญหาปากท้อง ด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำ ดิน ปลูกพืชทดแทน ปศุสัตว์และประมง การท่องเที่ยว การสร้างปัญญาความรู้
บ้านก้อ ตำบลก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ประสบปัญหาไฟป่ามากที่สุดในประเทศ ตลอด 22 ปีที่ผ่านมาพื้นที่อุทยานแม่ปิงที่ล้อมรอบบ้านก้อถูกไฟป่าสูงสุดถึงกว่า 20 ครั้ง คิดเป็นพื้นที่ป่ากว่า 300,000 ไร่ทุกปี
แม้ว่าหลังจากการเผาทำลายเพียงไม่กี่เดือนจะเกิดพืชใหม่ๆขึ้นมาทดแทนส่วนที่ถูกไฟทำลายไป แต่สิ่งที่ถูกทำลายและเรามองไม่เห็นได้แก่จุลินทรีย์ โดยเฉพาะเชื้อรา ต้นไม้ในวงศ์ยางในป่าเต็งรังจะมีเชื้อราสร้างสายใยเข้ามาหุ้มราก ราเหล่านี้จะหาน้ำและอาหารมาเลี้ยงต้นไม้ ในขณะที่ต้นไม้สังเคราะห์แสงแล้วนำน้ำตาลลงมาเลี้ยงรา การอยู่ด้วยกันแบบพึ่งพานี้ทำให้ต้นไม้ในป่าเต็งรังอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าจะเกิดในพื้นที่ที่แห้งแล้งและขาดแคลนแร่ธาตุในดิน เมื่อเกิดไฟป่าบ่อยครั้งจุลินทรีย์และเชื้อราจะถูกทำลาย ทำให้ป่าแคระแกรนขาดความสมบูรณ์ นอกจากนี้ไฟยังขัดขวางมิให้ดินอุ้มเก็บน้ำไว้จนทำให้บ้านก้อมีฤดูแล้งที่ยาวนานจนไม่สามารถปลูกพืชอื่นๆได้ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์